5 หน่วยงานสำคัญต้องติดต่อเมื่อสร้างบ้านหรู
การสร้างบ้านหรู นอกจากจะสร้างให้ถูกต้องตามแบบและมีมาตรฐานที่ยอมรับกันในระดับสากลแล้ว ยังต้องสร้างให้ถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย
โดยก่อนดำเนินการสร้างเจ้าของบ้านต้องดำเนินการติดต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือมอบหมายให้บริษัทรับสร้างบ้านดำเนินการแทน ซึ่งวันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับหน่วยงานสำคัญต่างๆ ที่ต้องติดต่อเมื่อจะสร้างบ้านหรู
1. หน่วยงานท้องถิ่นในพื้นที่สร้างบ้าน : ขอใบอนุญาตก่อสร้าง
เจ้าของบ้านต้องนำเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตปลูกสร้างบ้านยื่นต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นในพื้นที่ที่จะดำเนินการปลูกสร้างหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งคือ
● สำนักงานเขต
● สำนักงานเทศบาล
● องค์การบริหารส่วนจังหวัด
● องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เมืองพัทยา
● องค์การบริหารส่วนตำบล
โดยสามารถยื่นเรื่องถึงเจ้าพนักงานท้องถิ่น ดังกล่าวคือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, นายกเทศมนตรี, นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.), นายกเมืองพัทยา, นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
เอกสารประกอบการขออนุญาตปลูกสร้าง
1. แบบคำขออนุญาต (แบบ ข.1)
2. แบบแปลน แผนผังบริเวณ และรายการประกอบแบบแปลน จำนวน 5 ชุด
3. หนังสือรับรองว่าเป็นผู้ออกแบบ สถาปนิก และ วิศวกร พร้อมสำเนาใบอนุญาต
4. สำเนาโฉนดที่ดินที่จะก่อสร้าง หรือ น.ส. 3 หรือ ส.ค. 1
5. หนังสือแสดงความยินยอมให้ปลูกสร้างอาคารในที่ดิน (กรณีเจ้าของอาคารไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินที่อาคารนั้นตั้งอยู่)
6. หนังสือแสดงความยินยอมให้ปลูกสร้างอาคารชิดเขตที่ดิน (กรณีที่อาคารก่อสร้างชิดเขตที่ดินน้อยกว่า 50 ซม.) หรือใช้ผนังร่วมกัน
7. หนังสือแสดงความเป็นตัวแทนเจ้าของอาคาร หรือหนังสือมอบอำนาจ (กรณีเจ้าของไม่ได้ดำเนินการเอง)
2. หน่วยงานท้องถิ่นที่บ้านตั้งอยู่ : ขอเลขที่บ้าน
บ้านที่จะดำเนินการก่อสร้างต้องมีการขอเลขที่บ้าน เพื่อเป็นการป้องกันการแอบอ้างกรรมสิทธิ์โดยผู้ไม่ประสงค์ดี ซึ่งเมื่อบ้านมีการดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ เจ้าบ้านจะต้องรีบแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเพื่อให้ออกใบรับแจ้งเกี่ยวกับบ้าน (ก.ร.9) สำหรับนำไปยื่นคำร้องขอเลขที่บ้าน
หน่วยงานที่ต้องติดต่อเพื่อยื่นเรื่องขอเลขที่บ้าน
● สำนักงานเทศบาล
● สำนักงานเขต
● ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำภอ
3. การไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค : ขอใช้ไฟฟ้าใหม่ หรือขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าชั่วคราว
สาธารณูปโภคพื้นฐานถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการอยู่อาศัยในบ้าน โดยเฉพาะไฟฟ้า ซึ่งหลังสร้างบ้านเสร็จเจ้าของบ้านต้องดำเนินการติดต่อขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าใหม่กับหน่วยงานของการไฟฟ้าที่บ้านตั้งอยู่คือ การไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
เอกสารสำหรับการขอใช้ไฟฟ้า
● สำเนาทะเบียนบ้านที่ขอติดตั้งการใช้ไฟฟ้า
● สำเนาทะเบียนบ้านที่อยู่ปัจจุบัน
● สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
● ใบเสร็จค่าไฟฟ้าข้างเคียงของเสาที่จะติดตั้งมิเตอร์ (ถ้ามี)
4. การประปานครหลวง หรือการประปาส่วนภูมิภาค : ขอติดตั้งประปา
ผู้สร้างบ้านใหม่สามารถดำเนินการขอติดตั้งประปาได้พร้อมกับยื่นแบบคำร้อง โดยติดต่อการประปาได้ตามพื้นที่ตั้งของบ้าน ตามรายละเอียดคือ
● การประปานครหลวง สำหรับบ้านที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ และนนทบุรี หรือยื่นเรื่องผ่านช่องทางออนไลน์ที่ www.mwa.co.th
● การประปาส่วนภูมิภาค สำหรับบ้านที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอื่นๆ หรือยื่นเรื่องผ่านช่องทางออนไลน์ที่ www.pwa.co.th
เอกสารสำหรับการขอใช้ประปา
● บัตรประจำตัวประชาชน
● สำเนาทะเบียนบ้านของอาคารที่ขอติดตั้งประปา (กรณีสถานที่ขอติดตั้งกับที่อยู่ตามบัตรประจำตัวประชาชนเป็นคนละสถานที่กัน)
● หนังสือยินยอมและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าบ้านหรือเจ้าของบ้าน กรณีผู้ขอใช้น้ำไม่ใช่เจ้าบ้านหรือเจ้าของบ้าน
5. กรมทางหลวง : ขออนุญาตทำทางเชื่อมเข้า – ออกทางหลวง
การยื่นเรื่องขอทำทางเชื่อมเข้า-ออกทางหลวง เป็นไปเพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการจราจร ตั้งแต่ในขั้นตอนการก่อสร้างที่ทำให้รถขนดินหรือปูนสามารถเข้าออกได้สะดวก จนกระทั่งบ้านสร้างเสร็จก็เพื่อให้เจ้าของบ้านสามารถจราจรเข้าออกได้สะดวกสบาย โดยการดำเนินการแจ้งเรื่องนั้นสามารถติดต่อได้กับ กรมทางหลวง
โดยปัจจุบันกรมทางหลวงมีหน้าที่ดูแลทางหลวง 3 ประเภท คือ ทางหลวงพิเศษ ทางหลวงแผ่นดิน และทางหลวงสัมปทาน ดังนั้นผู้ที่ต้องการขอก่อสร้างทางเชื่อมเข้า-ออก ทางหลวงพิเศษและทางหลวงแผ่นดิน หรือปลูกสร้างอาคารริมพื้นที่เขตทางหลวง จะต้องดำเนินการขออนุญาตต่อกรมทางหลวง ตามข้อกำหนด
เอกสารสำหรับการขอทำทางเชื่อมเข้า – ออกทางหลวง
● แบบฟอร์มคำขออนุญาตของกรมทางหลวง
● แบบแปลนก่อสร้างทางเชื่อมกับทางหลวง
● ภาพถ่ายสำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ขออนุญาต
● ภาพถ่ายสำเนาโฉนดที่ดิน ที่จะทำทางเชื่อมเข้า-ออกทางหลวง
● หากมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการขออนุญาตแทน ต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ
ทั้งหมดนี้เป็น 5 หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการสร้างบ้าน และเจ้าของบ้านควรศึกษาข้อมูลและเตรียมเอกสารให้พร้อมเมื่อจะสร้างบ้าน เพื่อให้ขั้นตอนต่างๆ สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ถูกต้องตามกฎหมาย ช่วยให้สบายใจหายห่วงระหว่างการก่อสร้าง และนอกจากหน่วยงานหลักๆ ดังกล่าวแล้ว สำหรับเจ้าของบ้านที่มีการยื่นขอสินเชื่อสร้างบ้านกับธนาคาร ก็ต้องเตรียมตัวเพิ่มเติมในส่วนของเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขอสินเชื่อด้วย ซึ่งรายละเอียดเอกสารที่เกี่ยวข้องสามารถสอบถามกับธนาคารที่ยื่นเรื่องได้โดยตรง
ภาพประกอบบทความ :
แบบบ้าน AT-1005
รายละเอียดแบบบ้าน AT-1005 คลิก!
แบบบ้าน AT-1006
รายละเอียดแบบบ้าน AT-1006 คลิก!
แบบบ้าน AT-1007
รายละเอียดแบบบ้าน AT-1007 คลิก!
แบบบ้าน AT-1008
รายละเอียดแบบบ้าน AT-1008 คลิก!
สนใจสร้างบ้านหรูกับ บริษัท อาร์ต เทค โฮม จำกัด
Tel. : 02-804-1515
E-mail : SALES@ART-TECH.CO.TH
Facebook : arttechhome
Home Style