5 วัสดุก่อสร้างมาตรฐาน สำหรับการสร้างบ้านหรู
บ้านที่สร้างแล้วอยู่ดี อยู่ทน ปลอดภัยกับผู้อยู่อาศัยในระยะยาว นอกจากจะผ่านการสร้างจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญ โดยบริษัทรับสร้างบ้านมืออาชีพ รวมถึงแบบที่มีมาตรฐานแล้ว สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือคุณภาพของวัสดุที่เลือกใช้ในงานก่อสร้าง ซึ่งต้องได้รับการยอมรับมาตรฐานในระดับสากลด้วยทั้งเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย
แล้ววัสดุก่อสร้างที่มีมาตรฐานระดับสากลนั้นควรมีลักษณะอย่างไร ต้องสังเกตอะไร เลือกแบบไหนจึงจะเหมาะสมและปลอดภัยที่สุดสำหรับการสร้างบ้านหรู อาร์ต เทค โฮม มีคำตอบมาฝาก
ประเภทมาตรฐานการผลิตวัสดุที่ควรสังเกต
1. มาตรฐานที่ผลิตในประเทศไทย
เป็นมาตรฐานที่ถูกกำหนดขึ้นภายในประเทศไทย เช่น
• มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) หรือ Thailand Industrial Standard (TiS)
• มาตรฐานระบบคุณภาพ หรือ The International Organization for Standardization : ISO) ของโรงงานผู้ผลิตในประเทศไทย
• มาตรฐานของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)
• มาตรฐานที่ออกโดยองค์กรสถาบันวิชาชีพ
2. มาตรฐานสากล
เป็นมาตรฐานการรับรองในระดับขององค์กรระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับการยอมรับจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกแล้ว เช่น
• มาตรฐานระบบคุณภาพสากล (The International Organization for Standardization : ISO)
• มาตรฐาน The International Electrotechnical Commission (IEC)
• มาตรฐาน NFPA (The National Fire Protection Association)
วัสดุก่อสร้างมาตรฐานในงานส่วนต่างๆ สำหรับบ้านหรู
1. เสาเข็ม
เสาเข็มที่ใช้ในงานก่อสร้างบ้านเรือนในปัจจุบันแบ่งเป็น 3 ประเภท ตามลักษณะการผลิตและการใช้งาน เช่น
• เสาเข็มคอนกรีตอัดแรง
• เสาเข็มเจาะ
• เสาเข็มกลมแรงเหวี่ยงอัดแรง
โดยภาพรวมของการเลือกเสาเข็มที่มีมาตรฐานให้เหมาะกับงานก่อสร้าง ทั้งทีมก่อสร้างและเจ้าของบ้าน ควรสังเกตลักษณะหลักๆ ดังต่อไปนี้
• เสาเข็มมีการรับรองโดยมาตรฐานอุตสาหกรรม
• เนื้อคอนกรีตของเสาเข็มต้องมีความแน่นสม่ำเสมอ
• ตัวเสาเข็มไม่แตกร้าวจนส่งผลเสียต่อตัวเสาเข็ม
• หัวเสาเข็มตั้งฉากกับตัวเข็ม ไม่เอียง ไม่แอ่นหรือคดงอ
• มีรายละเอียดเกี่ยวกับเสาเข็มแจ้งชัดเจน เช่น ชื่อ ขนาด ความยาว วันเดือนปีที่ผลิต ตำแหน่งจุดยก ชื่อโรงงานที่ผลิต
2. วัสดุมุงหลังคา
วัสดุมุงหลังคาที่ได้รับความนิยมนำมาใช้สำหรับก่อสร้างบ้านในปัจจุบันมีหลากหลายชนิด หลากหลายแบบ โดยการเลือกใช้งานควรเลือกให้เหมาะสมกับความต้องการใช้งาน สไตล์และแบบบ้าน เช่น
• กระเบื้องซีเมนต์หรือคอนกรีต มีความแข็งแรง ทนต่อสภาพอากาศ มีทั้งแบบลอนและแบบเรียบ
• กระเบื้องเซรามิก มีลักษณะเงาวาว ดูสวยงาม หรูหรา เหมาะสำหรับอากาศเมืองไทยเพราะมีคุณสมบัตินำความร้อนต่ำ
• เมทัลชีทหรือหลังคาเหล็กรีดขึ้นลอน ลักษณะมีน้ำหนักเบา สามารถติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว
• Insulated Roof หลังคาเหล็กแผ่นบางเคลือบสี โดยจะใช้ 2 แผ่นประกบกัน มีคุณสมบัติในการช่วยลดเสียง สามารถป้องกันความร้อนได้
• หลังคาคอนกรีต หลังคาที่มีการเทคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นพื้นหลังคาพร้อมทำระบบกันซึมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการใช้งาน
มาตรฐานของวัสดุมุงหลังคา ควรสังเกตดังต่อไปนี้
• วัสดุนั้นผ่านกระบวนการทดสอบคุณสมบัติต่างๆ แล้ว เช่น การทดสอบความทน ความแข็งของสีเคลือบ การรองรับแรงกระแทก
• มีรายละเอียดบนฉลากสินค้า ไม่ว่าจะเป็น เลข ตัวอักษร ชนิด ประเภท น้ำหนัก รหัสสีของผลิตภัณฑ์ วันเดือนปีที่ผลิต ชื่อโรงงาน และเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน
3. วัสดุกันความร้อน
ด้วยปัจจัยด้านภูมิอากาศของเมืองไทยที่อยู่ในเขตร้อนชื้นทำให้อากาศร้อนมีระยะเวลานาน ทำให้การสร้างบ้านต้องคำนึงถึงการป้องกันและลดความร้อนให้กับบ้าน เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า การมีตัวช่วยให้บ้านเย็น และช่วยป้องกันความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ตัวบ้าน จึงเป็นทางออกที่หลายคนเลือกใช้โดยเฉพาะวัสดุสร้างบ้านที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อนต่างๆ ซึ่งสามารถเลือกใช้ได้ตามคุณสมบัติที่ต้องการ เช่น
• ฉนวนอลูมิเนียมฟอยล์ มีคุณสมบัติในการสะท้อนความร้อนสูง ทนทานไม่ฉีกขาดง่าย ทนความชื้นได้ดีและไม่ติดไฟ
• ฉนวนแบบโฟม มีคุณสมบัตินําความร้อนต่ำ และรองรับน้ำหนักกดทับได้สูง
• ฉนวนใยแก้ว เป็นวัสดุที่ทำมาจากแก้วหรือเศษแก้วที่ถูกหลอมจนเป็นเส้นใยละเอียด มีคุณสมบัตินำความร้อนต่ำ และช่วยป้องกันเสียงรบกวนได้ดี
การเลือกฉนวนกันความร้อนที่มีมาตรฐาน ควรเลือกแบบที่มีรายละเอียดของวัสดุนั้นชัดเจน ทั้งชื่อสินค้า วันที่ผลิต แหล่งผลิต คุณสมบัติ โดยเฉพาะฉนวนกันความร้อนที่ต้องช่วยในเรื่องการลดความร้อนได้อย่างดี สามารถป้องกันและสะท้อนความร้อนจากภายนอกบ้านได้ และมีคุณสมบัติไม่ติดไฟ ไม่ลามไฟ ที่มีการทดสอบและผ่านมาตรฐานการรับรองแล้ว
4. วัสดุฝ้าเพดาน
ฝ้าเพดานเป็นส่วนประกอบสำคัญช่วยปกปิดโครงสร้างบ้าน และงานระบบต่างๆ ทำให้บ้านดูเรียบร้อยสวยงาม โดยวัสดุประเภทนี้มีหลายชนิดขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งาน
• ไม้ ใช้ได้ทั้งกับงานภายในและภายนอกบ้าน มีความสวยงามเป็นธรรมชาติ และทำให้บ้านดูโดดเด่น
• ยิปซั่ม มีหลากหลายลวดลายให้เลือกใช้งาน มีน้ำหนักเบาและติดตั้งง่าย เหมาะกับการใช้ทั้งภายในและนอกบ้าน
• ไวนิล เป็นวัสดุที่มีน้ำหนักเบา สามารถทนน้ำ และทนความชื้นได้ดี ทำให้ไม่มีปัญหาบิดงอ
• ไฟเบอร์ซีเมนต์ เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรง สามารถทนแดดทนฝน รับมือได้กับทุกสภาพอากาศ ไม่มีปัญหาเรื่องลามไฟ โก่ง หรือบิดงอ
การเลือกวัสดุฝ้าเพดาน ควรสังเกตที่ตัวแผ่นวัสดุที่ต้องไม่มีรอยแตกร้าว ไม่บิดงอ สำหรับบางชนิดที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ทนน้ำ ทนความชื้น ทนไฟ ควรมีรายละเอียดแจ้งไว้อย่างชัดเจน ที่สำคัญขนาดแผ่น คุณภาพของเนื้อวัสดุ และแหล่งผลิตต้องมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ
5. วัสดุปูพื้น
วัสดุปูพื้นมีให้เลือกหลายแบบหลายประเภท แต่จะเลือกแบบไหนให้เหมาะกับบ้าน ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้งาน และแบบบ้าน
• ไม้ ให้ความรู้สึกถึงบรรยากาศที่ดูอบอุ่น มีความสวยงามและเป็นธรรมชาติ ที่นิยมนำมาใช้ เช่น ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้มะค่า ไม้สัก
• ไม้ลามิเนต ไม้สังเคราะห์ที่มีน้ำหนักเบา สามารถติดตั้งได้ง่าย สามารถเลือกสีและลวดลายได้ตามต้องการ
• ไฟเบอร์ซีเมนต์ วัสดุที่ทำขึ้นเพื่อทดแทนไม้จริง มีความแข็งแรง ทนทาน ทนไฟ ไม่ยืดหรือหดตัวตามสภาพอากาศ และติดตั้งได้อย่างง่ายๆ
• กระเบื้อง มีให้เลือกหลายแบบ มีคุณสมบัติกันน้ำได้ดี สามารถทำความสะอาดได้ง่าย ที่นิยมใช้กันคือ กระเบื้องเซรามิก และ กระเบื้องยาง
• หิน มีความแข็งแรง ทนทาน ดูแลรักษาง่าย แต่อาจให้ผิวสัมผัสที่ค่อนข้างแข็งกระด้าง ที่นิยมใช้คือ หินอ่อน หินแกรนิต หินขัด
การเลือกวัสดุปูพื้นควรดูรายละเอียดของวัสดุแต่ละประเภทให้เหมาะกับงานพื้นที่จะใช้แต่ละห้องแต่ละพื้นที่ในบ้าน หากเป็นวัสดุที่เป็นแผ่น เน้นความเท่ากันของแต่ละแผ่นก็ควรมีมาตรฐานตามรายละเอียดบ่งชี้ นอกจากนี้ควรมีรายละเอียดชนิดของวัสดุที่ใช้ในการผลิดแผ่นปูพื้นอย่างชัดเจน มีการรับรองที่เชื่อถือได้
การสร้างบ้านที่มีมาตรฐาน ปลอดภัยกับการอยู่อาศัย นอกจากการออกแบบบ้านโดยผู้เชี่ยวชาญ การมีทีมงานมืออาชีพแล้ว การเลือกวัสดุที่มีคุณภาพ มีความแข็งแรง และมีมาตรฐานที่ยอมรับโดยทั่วไป ก็เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้บ้านแข็งแรง ปลอดภัย และเป็นมิตรกับการใช้ชีวิตทุกๆ วัน
ภาพประกอบบทความ :
แบบบ้าน AT-1010
รายละเอียดแบบบ้าน AT-1010 คลิก!
แบบบ้าน AT-1008
รายละเอียดแบบบ้าน AT-1008 คลิก!
สนใจสร้างบ้านหรูกับ บริษัท อาร์ต เทค โฮม จำกัด
Tel. : 0 2804-1515
E-mail : SALES@ART-TECH.CO.TH
Facebook : arttechhome
Home Style